ความหมายของกฎหมาย
ผู้มีให้คำนิยามคำว่า “กฎหมาย” ไว้หลายความหมาย ส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมในแต่ละยุคสมัย แต่โดยนัยแห่งความหมายแล้วคล้ายคลึงกัน เช่น กฎหมาย คือ
1. คำสั่งของผู้ปกครองว่าการแผ่นดิน ต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามแล้วตามธรรมดาต้อง รับโทษ
2. ข้อบังคับของรัฐซึ่งกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูก ลงโทษ
3. ข้อบังคับของประเทศซึ่งใช้บังคับความประพฤติของพลเมือง ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความ ผิดและย่อมถูกบังคับทำโทษ
4. คำสั่งซึ่งหมู่ชนยอมรับรองโดยตรงหรือโดยปริยาย และประกอบขึ้นด้วยมวลข้อบังคับ ซึ่งหมู่ชนเห็นว่าสำคัญ เพื่อความผาสุกของตน และพร้อมที่จะให้มีการบังคับเพื่อให้ปฏิบัติตาม
5. การแสดงออกของเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชน ซึ่งทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมด้วยตนเองหรือโดยผ่านผู้แทนของตนในการสร้างกฎหมาย และใช้บังคับกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครอง การป้องกันหรือการลงโทษ
6. เครื่องมือที่รับรองผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองในการที่จะรักษาสภาพไม่เท่าเทียมกันในสังคม เพื่อผลกำไรของชนชั้นตน
นิยามคำว่า กฎหมาย ในข้อ 1-3 มีความคล้ายคลึงกันมากคือเป็นคำสั่งของรัฐาธิปัตย์หรือผู้มีอำนาจที่ใช้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์หรือราษฎรทั้งหลาย เป็นคำนิยามที่มาจากแนวความคิดของปราชญ์หลายท่านในช่วงศตวรรษที่ 17-19 เช่นThomas Hobbes(1588-1679) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ก็สอนว่า “มนุษย์ในสภาวธรรมชาติอยู่ในสภาพที่ทุกๆคนทำสงครามกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะธรรมชาติเช่นนี้มนุษย์จึงหันมาทำสัญญาที่จะอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและยอมอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของรัฐาธิปัตย์โดยปราศจากเงื่อนไข และยอมปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ถืออำนาจปกครองนั้นโดยสงบ กฎหมายหรือมาตรการความประพฤติของมนุษย์ก็คือ สิ่งที่ผู้ถืออำนาจปกครองกำหนดขึ้นและบังคับให้ทุกคนปฏิบัติตามนั่นเอง” หลังจาก Hobbes แล้ว ในช่วงต่อมา John Austin (1790-1859 )นักปราชญ์ชาวอังกฤษก็มีความคิดในทำนองเดียวกัน โดยให้คำนิยามว่า กฎหมายคือ (Deliberately made)
พิเคราะห์จากแนวความคิดของปราชญ์ในช่วงศตวรรษที่ 17-19 ที่เกี่ยวกับกฎหมายเราจะพบว่า การยอมรับให้รัฐาธิปัตย์หรือผู้มีอำนาจออกกฎหมายมาใช้บังคับนั้นจะมีลักษณะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมในยุคนั้นที่ซึ่งความเป็นจริง ในทางการเมืองสังคมอยู่ภายใต้ระบบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์(Absolute Monarch – Monachie Absolue)และในทางเศรษฐกิจลัทธิเสรีนิยมเริ่มก่อตัวท่ามกลางเศรษฐกิจพาณิชญ์นิยมหรือลัทธิพาณิชญ์นิยม (Mercantilisme) ซึ่งต้องการความเป็นเอกภาพและความมั่นคงในสังคมเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเอกชนและรัฐ นอกจากอิทธิพลแนวความคิดของHobbes แล้ว แนวความคิดเกี่ยวกับหน้าที่ของกฎหมายของ John Locke ก็มีบทบาทสำคัญในการให้นิยามกฎหมายในช่วงต่อมาซึ่งจะปรากฏในข้อที่ 4 -5 ที่ว่า กฎหมายคือคำสั่งที่หมู่ชนยอมรับรองโดยตรงหรือโดยปริยาย...............และพร้อมที่จะให้มีการบังคับเพื่อปฏิบัติตาม และกฎหมายคือการแสดงออกของเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชน...........................และใช้บังคับกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นการป้องกันหรือการลงโทษ ขณะที่ T.Hobbes เห็นว่าโดยธรรมชาติมนุษย์จะทำสงครามกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและให้สังคมดำรงอยู่อย่างมั่นคงและปลอดภัย รัฐาธิปัตย์ในฐานะ “ ผู้มีอำนาจกลางสูงสุด ” จึงต้องออกคำสั่งหรือข้อบังคับใช้กับทุกคนในสังคม ตรงกันข้าม John Locke กลับมองในแง่ดีว่า มนุษย์นั้นมีลักษณะที่ดีติดตัวมา สามารถควบคุมตัวเองได้ เมื่อต้องอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนและติดต่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ดังนั้น กฎหมายหรือคำสั่งของรัฐาธิปัตย์จึงมรฐานะเป็นแนวทางกว้างๆหรือโครงร่าง ( Framework ) ที่กำหนดให้มนุษย์ได้รู้จักใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆซึ่งกฎหมายไม่ใช่เครื่องมือของรัฐาธิปัตย์ที่จะใช้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์ทุกย่างก้าว John Locke เองไม่ได้ให้ความสำคัญต่อกฎหมายในแง่ของการบังคับแต่ให้ความสำคัญในฐานะที่เป็น ( Framework ) ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคมและความสัมพันธ์ในการผลิต โดยรัฐาธิปัตย์มีหน้าที่เข้ามาช่วยเสริมความเป็นระเบียบในสังคมเพื่อให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล John Locke ถือว่าเป็นสิทธฺทางธรรมชาติที่มนุษย์ต้องการให้รัฐาธิปัตย์ปกป้องคุ้มครองด้วยกฎหมายรวมทั้งเรื่องของสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในการรับมรดกหรือกล่าวได้ว่าเป็นความต้องการของบุคคลที่จะให้รัฐคุ้มครองป้องกันทรัพย์สินส่วนตัว
จากแนวความคิดของ John Locke และนิยามความหมายของกฎหมายในข้อ 4-5 เราจะพบว่ามันเป็นคำนิยามที่สอดคล้องกับสังคมเสรีนิยมโดยเฉพาะประเทศในยุโรปและอเมริกาซึ่งในทางการเมืองขณะนั้นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ( Democracy – Democratie ) ได้รับการต้อนรับจากประชาชนในประเทศเสรีนิยมอย่างกว้างขวาง ขณะที่เศรษฐกิจระบบทุนนิยมก็ขยายขอบเขตปริมณฑลออกไปอย่างรวดเร็ว
คำนิยามสุดท้ายที่ว่า “ กฎหมายคือ เครื่องมือที่รับรองผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองในการที่จะรักษาสภาพที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นตน ” เป็นความหมายที่ได้รับอิทธิพลทางอุดมการณ์และทรรศนะสังคมนิยมที่เห็นว่าในสังคมหนึ่งๆ ประกอบไปด้วยชนชั้นทางสังคมต่างๆและชนชั้นหนึ่งในสังคมคือชนชั้นปกครองที่มีอำนาจอยู่ในมือจะออกกฎหมายมาบังคับใช้บุคคลทั้งหลายเพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ดังนั้น ถ้านายทุนปกครองประเทศกฎหมายที่ออกมาจะมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน
นิยามคำว่ากฎหมายทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมา แม้ว่าจะเกิดจากแนวความคิดอิทธิพลทางอุดมการณ์และเงื่อนไขความเป็นจริงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกัน แต่โดยวัตถุประสงค์และวิธีการออกกฎหมายมาใช้บังคับก็ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะ “ กฎหมายจะถูกจัดทำโดยผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ควบคุมความประพฤติของบุคคลในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและบุคคลของรัฐ ถ้ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ย่อมถูกลงโทษ”
ความสำคัญของกฎหมาย
กฏหมายมีลักษณะสำคัญ สรุปได้ดังนี้
1.กฏหมายมีลักษณะเป็นข้อบังคับ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
# บังคับไม่ให้กระทำ เช่น ห้ามลักทรัพย์ ห้ามทำร้ายร่างกาย ห้ามเสพสิ่งเสพย์ติด
# บังคับให้กระทำ เช่น ประชาชนชาวไทยเมื่อมีอายุ 15 ปี ต้องมีบัตรประจำตัวประชาขน ผู้มีรายได้ต้องเสียภาษีอากร เป็นต้น
2. กฏหมายมีลักษณะเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่เกิดมีขึ้นโดยผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ เช่น ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ออกกฏหมาย ส่วนประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีรัฐสภาเป็นผู้ออกกฏหมาย และพระราชบัญญัติ มีรัฐบาลเป็นผู้ออกพระราชกำหนด พระราชกฤษฏีกาและกฏกระทรวง
3. กฏหมายจะต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้กับบุคคลทุกคนในรัฐโดยไม่มีข้อยกเว้น อย่างเสมอภาคไม่ว่าคนนั้นจะถือสัญชาติใดก็ตาม
4. กฏหมายมีผลบังคับใช้ตลอดไป จนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิก
5. ผู้ใดฝ่าฝืนกฏหมายต้องได้รับโทษ การปฏิบัติตามกฏหมายไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของผู้ปฏิบัติ แต่เกิดจากการถูกบังคับ ดังนั้นเพื่อให้การบังคับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีบทลงโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน ได้แก่
ความผิดทางอาญากำหนดโทษไว้ 5 สถาน คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับและริบทรัพย์สิน
วิธีการเพื่อความปลอดภัย เป็นมาตรการเพื่อให้สังคมปลอดภัยจากการกระทำของผู้กระทำผิดที่ติดเป็นนิสัยไม่มีความเข็ดหลาบ โดยไม่ถือว่าเป็นโทษทางอาญา ตามประมวลกฏหมายอาญากำหนดไว้ 5 ประการ คือ การกักกัน ห้ามเข้าเขตกำหนด เรียกประกันทัณฑ์บน คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล และห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง
กฏหมายต้องมาจากรัฏฐาธิปัตย์ คือ กฏหมายที่บัญญัติออกมาต้องมาจากรัฐที่มีเอกราช
พนักงานของรัฐเป็นผู้บังคับให้เป็นไปตามกฏหมาย หมายความว่า เมื่อมีการกระทำผิดที่ฝ่าฝืนกฏหมาย จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิด ผู้เสียหายจะแก้แค้นหรือลงโทษกันเองไม่ได้บุคคลเหล่านี้ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้พิพากษา เป็นต้น
องค์ประกอบของกฎหมาย
1. กฎหมายเป็นบทบัญญัติ
2. ผู้มีอำนาจตรากฎหมาย จะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ
3. บทบัญญัติที่กำหนดไว้ มี 2 ประเภท คือ
- บทบัญญัติ ที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง
- บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคล ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง)
4. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษ หรือ ต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม
ประเภทของกฎหมาย
การแบ่งแยกประเภทของกฎหมาย กฎหมายแบ่งแยกตามข้อความของกฎหมายได้เป็น 3 ประเภท
1. กฎหมายมหาชน (Public Law)ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองราษฎร กล่าวคือในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฎร แบ่งแยกสาขากฎหมายมหาชนได้ ดังนี้
@ รัฐธรรมนูญ
@ กฎหมายปกครอง
@ กฎหมายอาญา
@ กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง
@ กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา
@ กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
2. กฎหมายเอกชน(Private Law) ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกันในฐานะเท่าเทียมกัน เช่นเรื่องสัญญาซื้อขาย ก. ทำสัญญาซื้อขายกับ ข. ก. กับ ข. ต่างก็อยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน ก. จะบังคับ ข. ให้ตกลงกับ ก. อย่างใด ๆ โดย ข. ไม่สมัครใจไม่ได้ มีข้อที่ควรสังเกตว่าในบางกรณีรัฐก็ได้เข้ามาทำสัญญากับราษฎร ในฐานะที่รัฐเป็นราษฎรได้ ซึ่งก็ต้องมีความสัมพันธ์เหมือนสัญญาซื้อขายระหว่างบุคคลธรรมดา กฎหมายเอกชนที่กล่าวไว้ในที่นี้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอื่น ๆ
3. กฎหมายระหว่างประเทศ(International Law) หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกัน และแบ่งแยกออกตามความสัมพันธ์ได้ 3 สาขา คือ
฿ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
฿ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
฿ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
ศักดิ์ของกฎหมาย
ศักดิ์ของกฎหมาย ( hierachy of law) คือ ลำดับความสูงต่ำของกฎหมาย
การจัดศักดิ์ของกฎหมายมีความสำคัญต่อกระบวนวิธีการต่าง ๆ ทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ การตีความ และการยกเลิกกฎหมาย เช่น หากกฎหมายฉบับใดมีลำดับชั้นของกฎหมายสูงกว่า กฎหมายฉบับอื่นที่อยู่ในลำดับต่ำกว่าจะมีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับกฎหมายสูงกว่านั้นมิได้ และอาจถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
เกณฑ์ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมาย ได้แก่ การพิจารณาจากผู้ตรากฎหมายฉบับนั้น ๆ ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ
สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยผู้แทนของปวงชนคือรัฐสภา เป็นการที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วมกันใช้อำนาจสูงสุดแห่งรัฐในการออกกฎหมาย จึงให้มีศักดิ์สูงสุด ส่วนที่มีศักดิ์รองลงมาได้แก่ พระราชบัญญัติและพระราชกำหนด ซึ่งได้รับการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้วจึงผ่านไปยังวุฒิสภา เป็นการแยกกันใช้อำนาจ
ลำดับศักดิ์ของกฎหมายว่ากันแต่ประเทศไทยในปัจจุบัน มีทั้งกฎหมายลายลักษณ์อักษร กฎหมายจารีตประเพณี และหลักกฎหมายทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่ากฎหมายส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในรูปลายลักษณ์อักษรมากที่สุด
กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนรับรองและส่งเสริมสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายอื่นทุกฉบับ กฎหมายอื่นจึงจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ มิเช่นนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้เลย มักมีผู้เรียก "รัฐธรรมนูญ" ว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" พึงทราบว่า "กฎหมายรัฐธรรมูญ" (: constitutional law) นั้นเป็นคำเรียกสาขาวิชาทางนิติศาสตร์และเรียกกฎหมายมหาชนแขนงหนึ่งซึ่งว่าด้วยการวางระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง ส่วน "รัฐธรรมนูญ" (: Constitution) นั้นคือกฎหมายจริง ๆ ฉบับหนึ่งซึ่งจัดระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง
กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายชนิดนี้อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติในประเทศไทย และมีศักดิ์เดียวกันกับพระราชบัญญัติแต่มีวิธีการตราที่พิสดารกว่าพระราชบัญญัติเนื่องเพราะเป็นกฎหมายที่อธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ
พระราชบัญญัติ และประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นกฎหมายที่ถือได้ว่าคลอดออกมาจากท้องของรัฐธรรมนูญโดยตรง องค์กรที่มีหน้าที่ตรากฎหมายสองประเภทนี้ได้แก่รัฐสภา
พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการตราให้แก่ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ใช้ในกรณีรีบด่วนหรือฉุกเฉิน พระราชกำหนดนั้นเมื่อมีการประการใช้แล้วคณะรัฐมนตรีต้องนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ถ้ามิได้รับความเห็นชอบก็เป็นอันสุดสุดลง แต่ผลของการสิ้นสุดลงนี้ไม่กระทบกระเทือนบรรดาการที่ได้กระทำลงระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น
พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ ของพระราชบัญญัติหรือของพระราชกำหนด เปรียบเสมือนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่อธิบายขยายความในรัฐธรรมนูญ
กฎองค์การบัญญัติ เป็นกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตราขึ้นและใช้บังคับภายในเขตอำนาจของตน ได้แก่ ข้อบังคับตำบล เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และข้อบัญญัติเมืองพัทยา เนื่องจากอำนาจในการตรากฎหมายประเภทนี้ได้รับมาจากพระราชบัญญัติ โดยทั่วไปจึงถือว่ากฎองค์การบัญญัติมีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติชั่วแต่ว่าใช้บังคับภายในเขตใดเขตหนึ่งเป็นการทั่วไปเท่านั้น
กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารและไม่ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา มีลักษณะคล้ายพระราชกฤษฎีกาเพราะศักดิ์ของผู้ตราต่างกัน
รองศาสตราจารย์ทัชชมัย ฤกษะสุต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า "เมื่อพระราชกฤษฎีกากับกฎกระทรวงมีความใกล้เคียงกันมาก ข้อที่พิจารณาให้เห็นถึงความแตกต่างกันว่าควรจะออกกฎหมายในรูปพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เนื้อหาของกฎหมายที่ต้องการบัญญัตินั้นมีความสำคัญเพียงใด ซึ่งหากมีความสำคัญเป็นอย่างมากจะออกมาในรูปของพระราชกฤษฎีกา แต่ถ้ามีความสำคัญน้อยกว่าก็ออกในรูปของกฎกระทรวง
ผลการจัดศักดิ์ของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร
1. การออกกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายต่ำกว่าจะออกได้โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าหรือตามที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้อำนาจไว้
2. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายศักดิ์สูงกว่า จะออกมาโดยมีเนื้อหาเกินกว่าขอบเขตอำนาจที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้ไว้มิได้ มิฉะนั้นจะใช้บังคับมิได้เลย
3. หากเนื้อหาของกฎหมายมีความขัดแย้งกัน ต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบังคับ ไม่ว่ากฎหมายศักดิ์สูงกว่านั้นจะออกก่อนหรือหลังกฎหมายศักดิ์ต่ำกว่านั้น
เข้าทำแบบทดสอบ